โครงการพัฒนาศักยภาพครู ศึกษานิเทศก์ แกนนำเด็กและเยาวชน ในการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นพลเมือง


 

หลักการและเหตุผล 

จากการที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ เนื่องจากการใช้สื่อออนไลน์นั้นถือเป็นชีวิตจิตใจของคนในยุคปัจจุบันที่จะขาดเสียมิได้ แม้จะมีประโยชน์มหาศาลในแง่ของการเป็นแหล่งเรียนรู้ การติดต่อสื่อสาร การวิจัยพัฒนา ทั้งในด้านของการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และการประกอบธุรกิจ การบันเทิงต่างๆ แต่หากใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ใช้โดยขาดความระมัดระวัง ขาดซึ่งความรับผิดชอบ ก็อาจส่งผลเสียต่อทั้งตนเองและผู้อื่น  

           มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เห็นว่าจะจัดทำโครงการต่อเนื่องเพื่อพัฒนาศักยภาพครู ศึกษานิเทศก์ แกนนำเด็กและเยาวชน ในการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นพลเมือง ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายระดับชาติที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยจะเน้นการพัฒนาครู ศึกษานิเทศก์ และ แกนนำเด็กและเยาวชน ให้สามารถใช้ข่าวสาร สื่อและแหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่รอบตัว โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล เป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ Head (สมอง) Heart (หัวใจ) และ Hand (มือ) คือฝึกให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ ตีความ และประเมินคุณค่าของข่าวสาร (สมอง) ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม มีความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีจิตอาสาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น (Heart) และการที่เด็กได้ลงมือฝึกปฏิบัติจริงจะทำให้เกิดทักษะและประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง (Hand) ซึ่งจะเป็นการพัฒนาพลเมืองที่มีคุณภาพ พร้อมกันนี้ จะได้มีการพัฒนาทีมนักจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน ให้สามารถทำงานหนุนเสริมครูและศึกษานิเทศก์ตลอดจนแกนนำเด็กและเยาวชนในเรื่องดังกล่าวร่วมกับทีมงานของทางมูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ และกระทรวงศึกษาธิการด้วย

วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อพัฒนาศักยภาพครู ให้สามารถใช้ข่าวสาร สื่อ และแหล่งเรียนรู้รอบตัว โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล เป็นเครื่องมือจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กนักเรียน เพื่อตอบโจทย์ Head Heart Hand ได้

 

2.2 เพื่อพัฒนาศึกษานิเทศก์ และนักจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน ให้ทำงานเป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมการทำงานของครูและโรงเรียนได้ดียิ่งขึ้น

 

2.3 เพื่อพัฒนาศักยภาพแกนนำเด็กและเยาวชน ให้สามารถใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ รู้เท่าทันสื่อ และสามารถทำโครงการขยายผลไปยังเพื่อนหรือรุ่นพี่รุ่นน้องได้

 

2.4 เพื่อสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC – Professional Learning Community) ในการใช้ข่าวสารและสื่อเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นพลเมือง

 

2.5 เพื่อพัฒนาชุดความรู้และเครื่องมือจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นพลเมืองในเด็ก เยาวชน และบุคคลแวดล้อม

 

2.6 เพื่อกระจายเนื้อหาความรู้ กระบวนการ และเครื่องมือจัดกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อและการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นพลเมือง ไปยังหน่วยจัดการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

 

2.7 เพื่อถอดบทเรียนการจัดกิจกรรมรู้เท่าทันสื่อและการใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นพลเมือง เพื่อหาแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) มาเผยแพร่สู่โรงเรียน/ชุมชนในวงกว้าง

 

2.8 เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนตามหลักการและอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็ก

 

กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินงาน

 

3.1 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่

 

o   ครู จากโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 200 แห่ง 600  คน ในสังกัด สพฐ. และ สช. ทั้งโรงเรียนประถมศึกษา และ มัธยมศึกษาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

 

o   ศึกษานิเทศก์ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และ มัธยมศึกษาจาก
ทั่วประเทศ รวม
100 คน จาก สพป. และ สพม. ทั่วประเทศ

 

o   นักจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชนจำนวน 100 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

 

o   แกนนำเด็กและเยาวชน จากโรงเรียน สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย 200 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

 

o   ครู อาจารย์ ศึกษานิเทศก์ พ่อแม่ นักการศึกษา นักจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ไม่น้อยกว่า 1,000 คน เป็นสมาชิกในเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ในการส่งเสริมการใช้ข่าวสารและสื่อเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาความเป็นพลเมือง

ระยะเวลาดำเนินงาน : 12 เดือน เริ่มตั้งแต่ มกราคม 2560 – 31 ธันวาคม 2560

 

     ผลที่คาดว่าจะได้รับ        

 

o   ครู ได้พัฒนาศักยภาพในการใช้ข่าวสาร สื่อ และแหล่งเรียนรู้รอบตัว โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล เป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

o   ศึกษานิเทศก์และนักจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชน ได้มีเครื่องมือและแนวทางหนุนเสริมครู/โรงเรียนในการส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรม/โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในโรงเรียนได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

 

o   เด็กและเยาวชน สามารถใช้สื่อดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ รู้เท่าทันสื่อ สามารถทำโครงการขยายผลไปยังเพื่อนหรือรุ่นพี่รุ่นน้องได้ และมีส่วนร่วมในการคิดและดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้สื่อดิจิทัลของตนเองและของสังคม

 

o   เกิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC – Professional Learning Community) ของครูและนักการศึกษา ในการใช้ข่าวสารและสื่อเพื่อการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ และพัฒนาความเป็นพลเมือง

 

o   สังคมเกิดความตระหนักและตื่นตัวในการใช้สื่อเพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ สร้างพลเมือง ใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

 

o   เกิดต้นแบบห้องเรียนวิเคราะห์ข่าว การใช้สื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาพลเมือง ที่สามารถนำไปต่อยอดขยายผลได้

 

o   เกิดชุดความรู้ สื่อ เครื่องมือ กระบวนการ ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน หรือผู้สนใจ สามารถนำไปใช้และเผยแพร่ในโรงเรียนและชุมชนได้

 

o   ผู้บริหารโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยจัดการเรียนรู้ เกิดความตื่นตัวและตระหนักรู้เรื่องการจัดกิจกรรมเพื่อตอบโจทย์ Head Heart Hand พัฒนาการทางความคิด จิตใจ และทักษะจากการลงมือปฏิบัติให้กับเด็กนักเรียน สนองนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ และนโยบายระดับชาติเรื่องการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์