โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

1.ที่มาและความสำคัญของโครงการ
โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา ส่งเสริม ให้เด็กและเยาวชนได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพตลอดจนทักษะด้านคอมพิวเตอร์ เพื่อการเรียนรู้และการประกอบอาชีพ อันจะสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง และเป็นทางเลือกให้เยาวชนในการทำงานหรือเรียนต่อ มีหน่วยงานร่วมดำเนินโครงการ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยในระยะเริ่มต้น กรมพินิจฯ ได้คัดเลือกศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 5 แห่ง คือ 1) ศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก จ.นครปฐม 2) ศูนย์ฝึกฯ บ้านกรุณา จ.สมุทรปราการ 3) ศูนย์ฝึกฯ บ้านปรานี จ.นครปฐม 4) ศูนย์ฝึกฯ บ้านอุเบกขา กรุงเทพฯ และ 5) ศูนย์ฝึกฯ บ้านบึง จ.ชลบุรี เนื่องจากมองว่าการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ นั้น มีเยาวชนอายุ 18 – 24 ปีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นวัยที่น่าจะเรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว อีกทั้งเยาวชนจะอยู่ในสถานพินิจฯ ไม่นาน ถ้าเยาวชนมีทักษะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็น่าจะนำไปใช้ประกอบอาชีพได้
โครงการฯ ในระยะที่ 1 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานโครงการฯ พระราชทานอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกทักษะด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่เยาวชน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ ทีวี กล้องถ่ายรูป เป็นต้น เพื่อพัฒนาเยาวชนในสถานพินิจฯ ให้ได้รับความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ในระหว่างฝึกอบรม และให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากการฝึกทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ อันจะสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง และเป็นทางเลือกให้เยาวชนในการทำงานหรือเรียนต่อได้ ซึ่งการทำงานได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสองหน่วยงานอันได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ จัดกิจกรรมฝึกอบรมให้เยาวชนศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก ในหลักสูตรระยะสั้น 3 สัปดาห์ สำหรับการออกแบบกราฟฟิก ,ทำสื่อสิ่งพิมพ์, การผลิตภาพยนตร์สั้น, การถ่ายภาพเบื้องต้นเพื่อผลิต Stop Motion และ คณะวิทยากรจาก มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้เยาวชนในศูนย์ฝึกฯอีก 4 แห่งในหลักสูตรระยะยาว 16 สัปดาห์ “เรียนรู้สู่การเป็น Graphic Designer มืออาชีพ” ซึ่งเยาวชนได้สร้างสรรค์ผลงานมากมาย เช่น การออกแบบปฏิทิน, โปสเตอร์, การ์ดอวยพร, การทำนามบัตร, การออกแบบโลโก้, สื่อสิ่งพิมพ์, การตกแต่งภาพ และการทำ Presentation ต่างๆ เป็นต้น หลังการอบรมทั้งสองหลักสูตร เยาวชนได้มีโอกาสนำเสนอผลงานในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเยาวชนที่เข้าร่วมฝึกอบรมทั้ง 5 ศูนย์ฝึกฯ นำความภาคภูมิใจสู่ตนเองและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนอื่นๆ ทั้งยังเป็นการแสดงให้พ่อแม่และผู้ปกครองของเยาวชนได้รับรู้ถึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของเยาวชน ผ่านรูปแบบการจัดกิจกรรมแสดงผลงาน พร้อมสาธิตการถ่ายภาพและตกแต่งภาพ การออกแบบนามบัตร การ์ดอวยพร ลวดลายสกรีนเสื้อ กระเป๋า ถุงผ้า สื่อสิ่งพิมพ์ Stop Motion และหนังสั้น ฯลฯ
การดำเนินโครงการฯ ในระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2556-2557 มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกฯ เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลเด็กและเยาวชนแนวใหม่ คือเน้นการทำกิจกรรม ทำความดี ไม่ลงโทษหรือใช้ความรุนแรงกับเด็ก มีการฝึกอบรมเยาวชนแกนนำในหลักสูตรการถ่ายภาพ การตกแต่งรีทัชภาพ การทำสื่อสิ่งพิมพ์ การทำหนังสั้น และการทำเว็บไซต์ มีการนำเยาวชนออกฝึกฝนงานและบริการชุมชนนอกสถานที่ รวมถึงการอบรมถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ที่อยู่ใกล้เคียง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเยาวชนแกนนำด้วยกันจากทั้ง 5 ศูนย์ฝึกฯ ในรูปของค่ายเยาวชนฯ การดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 3 และ 4 ในปี พ.ศ. 2558-2559 เยาวชนได้เรียนรู้เพิ่มเติมในหลักสูตรการวาดภาพการ์ตูนสติ๊กเกอร์ไลน์ วาดภาพเว็คเตอร์ และวาดภาพโพลีก้อน ซึ่งในปี 2559 นั้น ทางกรมพินิจฯ ได้เพิ่มจำนวนศูนย์ฝึกฯ และสถานพินิจฯ เข้าร่วมโครงการอีก 6 แห่ง รวมเป็น 11 แห่ง
เนื่องจากโครงการฯ ได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ในปี พ.ศ. 2560 นี้ ทางกรมพินิจฯ จึงได้เพิ่มจำนวนศูนย์ฝึกฯ และสถานพินิจฯ เข้าร่วมโครงการฯ อีก รวมเป็น 27 แห่ง จึงจำเป็นจะต้องจัดหลักสูตรการฝึกอบรมใหม่ๆ ให้กับศูนย์ฝึกฯ และมีการบริหารจัดการฝึกอบรมที่เหมาะสม เพื่อให้เยาวชนตลอดจนครูในศูนย์ฝึกฯ แต่ละแห่งได้พัฒนาทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ตามความสนใจและความพร้อม จึงเป็นที่มาของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ในระยะที่ 5
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ
2.1 เพื่อให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจได้รับความรู้และพัฒนาทักษะทางด้านไอทีอย่างต่อเนื่อง
2.2 เพื่อให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจสามารถนำความรู้และทักษะทางด้านไอทีไปใช้ประโยชน์ภายในศูนย์ฝึกฯ และกรมพินิจฯ ใช้ในงานบริการสังคม และสร้างรายได้ เป็นการฝึกฝนการทำงานจริงทั้งก่อนและหลังออกจากศูนย์ฝึกฯ
2.3 เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ กระตุ้นการเรียนรู้และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ส่งเสริมความรับผิดชอบ
2.4. เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจได้เรียนรู้สุขภาวะทางจิตวิญญาณ รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อสังคม
2.5 เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับหลักสูตรด้านไอทีภายในศูนย์ฝึกฯ ของสถานพินิจ โดยการพัฒนาหลักสูตรและผลักดันให้เป็นหน่วยเรียนคอมพิวเตอร์ เทียบเท่ากับหน่วยการเรียนวิชาชีพอื่นๆ
3.กลุ่มเป้าหมาย
เด็กและเยาวชนแกนนำไอทีจำนวน 100 คน จากศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวม 27 แห่ง ดังต่อไปนี้
1) ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา จ.สมุทรปราการ
2) ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม
3) ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านอุเบกขา จ.นครปฐม
4) ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านบึง จ.ชลบุรี
5) ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก จ.นครปฐม
หลักสูตรฝึกอบรมเยาวชนแกนนำไอที ประกอบด้วย
1. หลักสูตรการออกแบบฉลากและบรรจุภัณฑ์ หลักสูตรที่ 1 (4 วัน 100 คน)
2. หลักสูตรการออกแบบฉลากและบรรจุภัณฑ์ หลักสูตรที่ 2 (3 วัน 100 คน)
3. การวาดภาพการ์ตูนและภาพวาดโพลีก้อน (advance) (4 วัน 70 คน)
4. การสร้างเกมด้วย GAME Maker และ BEAM (4 วัน 50 คน)